Dragon

   เราลองมาใช้สมมุติฐานทางชีววิทยาอย่างง่ายๆกันดูว่า เจ้ามังกรนี่มันเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นมันจะต้องมีวิวัฒนาการแน่ๆ ตรงนี้แหละคือประเด็น มังกรจะต้องมีวิวัฒนาการอย่างไรจึงจะทำให้มันมีขนาดใหญ่โต บินได้ และพ่นไฟออกมาตามเทพนิยาย ความลับของมันน่าจะอยู่ที่คุณสมบัติสามประการต่อไปนี้คือ ขนาดของมัน การพ่นไฟของมัน และท้ายสุด เลือดอันมีคุณสมบัติพิเศษ ของมังกรนั่นเอง ตามเทพนิยายมังกรแต่ละตัวล้วนมีขนาดมหึมาด้วยกันแทบทั้งสิ้นแล้วเจ้าสัตว์มหึมานี้มันบินขึ้นได้อย่างไรโดยที่น้ำหนักตัวมหาศาลของมันไม่เป็นอุปสรรคเลยแม้แต่น้อย? แต่ก็ไม่น่าจะยากหากเราเปรียบเทียบกับสัตว์ปีกชนิดอื่นๆบนโลกนี้ (อย่าลืมว่าเราตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ว่า มังกรเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เทพมังกรหรือปีศาจมังกรอย่างในนิทาน) ซึ่งข้อมูลที่ได้มามันก็บอกอะไรเราหลายๆอย่างทีเดียว เป็นต้นว่า ในทุกๆหนึ่งตารางเซนติเมตรของปีกของห่านแคนาดามันสามารถยกน้ำหนักตัวมันเองได้สองกรัม ทำนองเดียวกันกับปีกนกนางแอ่นซึ่งยกได้ 132 กรัม นอกจากพวกนกแล้วความรู้ทางชีววิทยายัง
บอกเราอีกว่าแมลงภู่ยกได้ 1,125 กรัม ในกรณีของนกแก้วข้อแตกต่างก็คือ ลักษณะพิเศษของขนปีกซึ่งอากาศไหลผ่านจากปีกส่วนบนลงสู่ส่วนล่าง ทำให้เกิดความแตกต่างของความดันอากาศขึ้น โอ... ตามทฤษฎีการสร้างเครื่องบินเลยนะเนี่ยแต่ก็คงจะตลกถ้ามังกรดันมีปีกที่มีขนเหมือนนก งั้นเราก็มาเปรียบเทียบกับแมลงภู่ดู หากว่าปีก ของมังกรมีประสิทธิภาพเฉกเช่นปีกแมลงภู่แล้ว มันจะต้องใช้พื้นที่ปีก 720 ตารางเมตร เพื่อที่จะยกน้ำหนักตัวขนาดเก้าพันกิโลกรัมให้ทะยานขึ้นบนอากาศ ซึ่งปีกลักษณะนี้จะต้องมีความยาวจากปลายด้านหนึ่งถึงอีกด้านหนึ่งราว 150 เมตร แน่ล่ะว่านอกจากสัตว์ประหลาดในเรื่องอุลตร้าแมนแล้วไม่มีสัตว์ชนิดใดจะเป็นได้ขนาดนี้ ดังนั้นตัดประเด็นนี้ทิ้งไปได้เลย มีบทความบทหนึ่งกล่าวว่า...."และแล้วมังกรก็กลับกลายร่างขนาดมหึมา จากปากของมันเปลวไฟจะพวยพุ่ง ลมหายใจที่เหม็นเหลือก็รวยรินออกมา กลุ่มควันก้คละคลุ้งไปทั่วทั้งอาณาบริเวณ ณ ยามที่มันสืบเชื้อสาย มังกรก็ร่วมรวมกันเป็นหมู่เหล่า มันกางปีก... ลอยขึ้นสู่อากาศ และด้วยบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า มังกรบางตัวที่มีน้ำหนักมากเกินไปแล้วร่วงหล่นสู่ลำแม่น้ำ อันเป็นสายธาราจากสรวงสวรรค์ ในที่นั้นมันจะสูญสลายไป มังกรที่เหลือจะอยู่ร่วมกันจนพ้นฤดู เมื่อมังกรตนใดร่วงลง มังกรตนอื่นจะรออยู่เจ็ดวันแล้วจึงลงไปเพื่อที่จะพบ กับซากขนาดมหึมาที่เหลือแต่โครงกระดูก เพื่อเก็บไปเป็นศิราภรณ์แห่งมันต่อไป"... จาก Wonder of the East ของ จอร์ แดนัส เป็นไปได้ไหมว่าเราคลำทางมาผิด และตั้งสมมติฐานผิดๆเกี่ยวกับมังกร เราไม่ควรที่จะถามว่าทำไมสัตว์ที่มีขนาดมหึมาอย่างมังกรจึงบินได้ แต่เราควรที่จะถามว่าทำไมสัตว์ที่มีความจำเป็นตามธรรมชาติที่จะต้องบินอย่างมังกรนั้น จึงได้วิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่โตเกินความจำเป็นเช่นนี้ การสืบพันธุ์และการร่วงหล่นของมังกรก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและควรจะเก็บมาขบคิดกัน เป็นไปได้ไหมว่ามังกรไม่จำเป็นต้องมีปีกตลอดเวลา มันอาจจะมีปีกเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องบินออกมาหาคู่เหมือนกับแมลงบางชนิด เช่นแมลงเม่า ปลวก เป็นต้น และสิ่งหนึ่งที่จะเอามาเปรียบเทียบได้กับมังกรและจะช่วยคลี่คลายปัญหาของการบินของมังกรได้เป็นอย่างดี สิ่งนั้นคือเรือเหาะของเยอรมันในสมัยสงครามโลกนั่นเอง ภาพของฮินเดนเบอร์กตอนระเบิดกลางอากาศ ก๊าซและเชื้อเพลิงลุกไหม้ส่งผลให้โครงเรือแทบกลายเป็นจุลนั้นได้จุดประกายอะไรให้กับท่านไหม.. ใช่แล้ว!! มังกรบินได้เพราะลำตัวของมันกลวงและเต็มไปด้วยก๊าซที่เบากว่าอากาศ มังกรจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ เพราะจะได้เก็บก๊าซได้ปริมาณมากพอที่จะยกตัวมันให้ลอยขึ้นสู่อากาศ ...และสุดท้าย มังกรจำเป็นต้องพ่นไฟ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอำนวยความสะดวกในการบินที่แปลกประหลาดของมัน แถมไม่ได้เพียงแค่ถลาไปเหมือนเทอราโนดอน(ไดโนเสาร์ที่มีปีกเป็นพังผืด น่าจะเคยเห็นกันใน Jurassic Park) หรือด้วยอิทธิพลแบบคลื่นอัลเบอร์ทอส มังกรบินได้จริงๆอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จากตำนานต่างๆ มังกรสามารถบินข้ามมหาสมุทรได้ภายในเวลาไม่กี่วัน เอาล่ะครับ ตำนานนั้นอาจเชื่อได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะความเก่าที่เล่าสืบทอดกันมา อาจทำให้รายละเอียดผิดเพี้ยนไปบ้าง